ทำความรู้จักกับวอลเล็ท (Wallet) กับการเก็บสินทรัพย์ดิจิทัล

โดย Punthira Chinotaikul

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่าน กลับมาพบกับบทความที่รวบรวมความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) และโทเคนดิจิทัล (Digital Token) กับ Kubix อีกครั้งนะคะ สำหรับนักลงทุนที่สนใจในการลงทุนกับ Digital Asset หรือลงทุนใน Digital Token กับ Kubix คงจะเคยได้ยินแนวคิดของ Wallet, Private Key และ Recovery Phrase รวมถึงความสำคัญของสิ่งเหล่านี้มาบ้าง แต่สำหรับคุณผู้อ่านที่ยังไม่คุ้นเคยกับแนวคิดเหล่านี้ ในบทความนี้ Kubix จะขอมาเล่าเรื่องนี้ให้คุณผู้อ่านเห็นภาพการทำงาน และเข้าใจถึงความสำคัญของ Wallet, Private Key และ Recovery Phrase กันค่ะ

กระเป๋าเงินในโลกของ Digital Asset

หากพูดถึงคำว่ากระเป๋าเงินในโลกของ Digital Asset ไม่ว่าจะเป็น Cryptocurrency, Coin, Digital token หรือ Non-Fungible Token (NFT) สิ่งที่ผู้อ่านอาจจะนึกภาพก่อนเป็นอันดับแรก อาจเป็นกระเป๋าเงินที่สามารถจัดเก็บ Digital Asset ของผู้ใช้งานที่เป็นเจ้าของไว้จริงๆ

แต่ในความจริงแล้ว เนื่องจากในกรณีของเทคโนโลยี Blockchain นั้น ข้อมูลการถือครอง Digital Asset นั้นจะถูกเก็บและเข้ารหัสอยู่ใน “บัญชี” หรือ “Account” บนระบบ Blockchain ค่ะ ดังนั้นแล้ว Wallet ในมุมมองของ Digital Asset นั้น ไม่ได้ทำหน้าที่ในการจัดเก็บ Digital Asset แต่ทำหน้าที่ในการ สร้างกุญแจและบัญชี สำหรับ Digital Asset อีกทั้งยังช่วยในการเก็บกุญแจ ในการเข้าถึงและดำเนินการทำธุรกรรมกับ Digital Asset ของผู้ใช้งานเจ้าของสินทรัพย์คนนั้นๆ ค่ะ

ดังนั้นแล้ว ก่อนที่จะไปทำความเข้าใจการทำงานของ Wallet รวมถึงจุดเด่นและจุดด้อยของ Wallet แต่ละประเภท ผู้เขียนจะขอพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ “กุญแจ” และ “บัญชี” สำหรับ Digital Asset บนระบบ Blockchain กันก่อนนะคะ

รูปแบบของกุญแจในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัล

เทคโนโลยีที่สำคัญและเป็นแกนหลักของ Blockchain คือการเข้ารหัสลับแบบอสมมาตร (Asymmetric Cryptography) ประกอบไปด้วยกุญแจที่สำคัญมากๆสองชนิด นั่นคือ กุญแจส่วนตัว (Private Key) และ กุญแจสาธารณะ (Public Key) ซึ่งกุญแจทั้งสองมีหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไปค่ะ

Public Key คือกุญแจสาธารณะที่ทุกคนในระบบสามารถรู้ได้ แต่ที่ผู้อ่านหลายๆ คนอาจจะคุ้นเคย จะเป็นที่อยู่ของปลายทาง หรือที่เรียกว่า Address ซึ่งอาจจะเป็นผู้ใช้งานบนระบบ Blockchain หรือ Smart Contract ก็ได้ โดย Address นั้นถูกสร้างขึ้นมาจาก Public Key อีกทีนึงค่ะ  
ซึ่งหากเปรียบเทียบให้ผู้อ่านเห็นภาพมากขึ้น Address จะทำหน้าที่เหมือนกับเลขบัญชีธนาคารของผู้ใช้งานค่ะ เมื่อผู้ใช้งานต้องการจะโอน Digital Asset ไปให้กับผู้อื่น ผู้โอนก็จะต้องทราบที่อยู่ของผู้ที่รับโอน เพื่อที่จะโอนไปยังปลายทางได้อย่างถูกต้องค่ะ

Private Key คือกุญแจส่วนตัวที่ไว้ใช้เพื่อยืนยันว่าผู้ใช้เป็นเจ้าของ Digital Asset นั้นจริง และถูกใช้ในการลงลายมือชื่อดิจิทัลขณะทำธุรกรรม Digital Asset บน Blockchain ซึ่งมีการใช้งานคล้ายกับการใช้งานรหัสผ่านของ Mobile Banking App ที่จะต้องกรอกให้ถูกต้องเวลาที่จะโอนเงินไปให้กับคนอื่นค่ะ ดังนั้นแล้ว Private Key จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก ผู้ใช้งานจะต้องเก็บรักษา Private Key ไว้ให้ปลอดภัย ห้ามให้ผู้อื่นรู้ และเพื่อป้องกันไม่ให้สินทรัพย์ถูกโอนออกไปจาก Wallet โดยที่ตนเองไม่รู้ ถ้าหาก Private Key สูญหาย เจ้าของกระเป๋าเงินดิจิทัลนั้นๆก็จะไม่สามารถเข้าถึงและทำธุรกรรมกับ Digital Asset ได้อีกต่อไปเลยล่ะค่ะ

Recovery Phrase

แม้ผู้เขียนจะได้เปรียบเทียบว่า Private Key มีความคล้ายคลึงกับรหัสผ่านที่ไว้ใช้ยืนยันตัวตนก่อนที่จะทำการโอนเงินผ่าน Mobile Banking App แต่จริงๆ แล้ว Private Key ที่ใช้ในระบบ Blockchain นั้นเป็นชุดรหัสตัวอักษรภาษาอังกฤษและตัวเลข ที่มีความยาวมากๆ เช่น E9873D79C6D87DC0FB6A5778633389F4… ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะจดจำและจัดเก็บชุดรหัสนี้ และกรอกชุดรหัสนี้ในทุกๆ ครั้งที่ต้องการทำธุรกรรมกับ Digital Asset ใช่ไหมคะ

จึงขอแนะนำให้รู้จักกับ ชุดคำศัพท์ที่จะมาช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถกู้คืน Wallet และ Private Key ของผู้ใช้งานง่ายยิ่งขึ้น ชุดคำศัพท์นี้มีชื่อเรียกที่ใช้กันอยู่หลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น “Recovery Phrase”, “Mnemonic Phrase” หรือ “Recovery Seed” แต่ในบทความนี้ จะขอใช้คำว่า “Recovery Phrase” ค่ะ Recovery Phrase นั้น เมื่อแปลตรงตัว ก็คือ ชุดคำศัพท์ในการกู้คืน Wallet ค่ะ ที่มีชื่อเรียกนี้ เนื่องจากว่าถ้าผู้ใช้งาน Wallet มีชุดคำศัพท์นี้ จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถกู้คืน Wallet รวมถึง Private Key ที่ผู้ใช้งานอาจจะไม่ได้จดเก็บไว้หรือทำสูญหายได้ค่ะ

โดย Recovery Phrase จะเป็นชุดของคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ที่มีความยาวอยู่ที่ 12-24 คำ ที่สามารถแปลงไปเป็น Private Key ได้ (ดูตัวอย่างประกอบได้จากภาพด้านล่างนี้ค่ะ) ซึ่งชุดคำศัพท์ในรูปแบบนี้ แม้จะไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อทำให้ผู้ใช้งานจำได้ แต่ก็สามารถจัดเก็บเอาไว้ได้สะดวกกว่าการจดเป็นตัวอักษรที่ไม่สามารถอ่านเป็นคำได้ และเวลาที่จำเป็นต้องใช้รหัสนี้จริงๆ ก็จะสามารถกรอกได้อย่างถูกต้องด้วยค่ะ

 

ตัวอย่าง Recovery Phrase (เนื่องจากเป็นตัวอย่างจริงจึงขอเซนเซอร์บางคำเพื่อความปลอดภัยค่ะ)

Recovery Phrase นั้นมีความสำคัญมากๆ เช่นเดียวกับ Private Key ในการเข้าถึงและจัดการกับ Digital Asset  หากทำสูญหายไป ผู้ใช้งานอาจไม่สามารถเข้าถึงสินทรัพย์ใน Address ของผู้ใช้งานได้อีก หรือหากหลุดไปอยู่ในมือของผู้อื่น ก็อาจจะทำให้เขาสามารถจัดการ Digital Asset ทั้งหมดที่อยู่ใน Wallet นั้นๆ ได้เหมือนกับเป็นเจ้าของเลยทีเดียวล่ะค่ะ รักษาไว้ให้ดีๆ นะคะ

รูปแบบของกระเป๋าเงินดิจิทัล ข้อดี และข้อเสียในแต่ละประเภท

มาจนถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านทุกคนก็ได้รู้จักกับ Private Key, Public Key, Recovery Phrase Wallet รวมถึงความสำคัญของสิ่งเหล่านี้แล้ว ต่อจากนี้ เรามาศึกษาเพิ่มเติมในหลักการของ Wallet รวมถึงจุดเด่น จุดด้อยของ Wallet แต่ละประเภทกันค่ะ

ในปัจจุบัน Wallet มีหลากหลายรูปแบบที่ตอบโจทย์การใช้งานและความปลอดภัยในการเก็บรักษา Private Key ที่แตกต่างกัน โดยในปัจจุบัน สามารถจำแนก Wallet เป็นสองประเภท ดังนี้

  • Hot Wallet (หรือ Online Wallet) vs Cold Wallet
  • Custodial Wallet vs Non-Custodial Wallet

Hot Wallet (Online Wallet) กับ Cold Wallet ต่างกันอย่างไร

การแบ่ง Wallet ออกเป็น Hot Wallet และ Cold Wallet เป็นการแบ่งตามการเชื่อมต่อของ Wallet เข้ากับอินเทอร์เน็ต โดย Hot Wallet หรือ Online Wallet จะเป็นรูปแบบของ Wallet ที่จะมีการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ตลอดเวลา เมื่อผู้ใช้งานต้องการทำธุรกรรม เช่น โอนสินทรัพย์ไปให้อีกกระเป๋าหนึ่ง ผ่าน Address ปลายทาง ผู้ใช้งานจะสามารถดำเนินการผ่าน Application ได้ทั้งหมด ซึ่งการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลาจะทำให้ผู้ใช้งานทำธุรกรรมได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

ตัวอย่างของ Hot Wallet เช่น Mobile Wallet และ Desktop Wallet ที่ผู้อ่านอาจจะรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อ ไม่ว่าจะเป็น MetaMask, Trust Wallet, Enjin Wallet เป็นต้น นอกจากนี้ Wallet ที่ผู้ใช้งานเปิดกับผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ (Cryptocurrency Exchange) ก็เป็น Hot Wallet เช่นกัน

แม้ว่าจะมีข้อดีมากมาย แต่การที่ Wallet เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา ก็ทำให้มีความเสี่ยงที่ Wallet นั้นจะโดนโจมตีและอาจจะทำให้ Private Key รวมถึง Recovery Phrase ที่จัดเก็บอยู่ใน Wallet หลุดออกไปอยู่ในมือของผู้ไม่ประสงค์ดีได้ค่ะ

ในทางกลับกัน Cold Wallet เป็น Wallet ที่โดยปกติแล้วจะไม่มีการเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ตเมื่อผู้ใช้งานไม่ได้ต้องการจะทำธุรกรรม ซึ่ง Cold Wallet ที่มีการใช้งานหลักๆ จะมี 2 ลักษณะ ก็คือ Hardware Wallet กับ Paper Wallet ค่ะ

Hardware Wallet เป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งจะมีลักษณะเหมือนกับ Thumb Drive/ Flash Drive เมื่อผู้ใช้งานต้องการที่จะทำธุรกรรม จะต้องเชื่อมต่อ Hardware Wallet นี้เข้ากับคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถืออีกทีหนึ่ง และเมื่อมีการทำธุรกรรมก็สามารถยืนยันได้ผ่าน Hardware Wallet ได้ในทันที

Paper Wallet จะเป็นการเก็บบันทึก Private Key และ Public Key ไว้บนกระดาษ ที่เมื่อผู้ใช้งานต้องการทำธุรกรรม ก็จะต้องนำ Private Key และ Public Key นี้ ไปกรอกตอนทำธุรกรรมอีกทีหนึ่ง

คุณผู้อ่านเห็นภาพใช่ไหมคะ ว่าการใช้งาน Cold Wallet ดูจะไม่ค่อยสะดวกสบายเท่าไหร่ และการเก็บรักษา Cold Wallet ก็เป็นไปได้ยากกว่า อาจจะมีโอกาสที่ผู้ใช้งานทำ Cold Wallet สูญหายได้ แต่ข้อดีของ Cold Wallet ก็คือ Wallet จะไม่มีการเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ตหากไม่ได้ใช้งาน ดังนั้นความเสี่ยงที่ Private Key ของเราจะถูกโจรกรรมในรูปแบบออนไลน์ ก็จะต่ำกว่ากรณีของ Hot Wallet มากเลยล่ะค่ะ

Custodial กับ Non-Custodian Wallet ต่างกันอย่างไร

หนึ่งในประโยคสุดฮิต ที่ผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินกันบ่อยๆ เวลาที่ศึกษาเกี่ยวกับ Digital Asset คือ “Not your keys, not your coins” ประโยคนี้เกี่ยวข้องกับการจำแนกประเภทของ Wallet โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น Custodial Wallet และ Non-Custodian Wallet  

การจำแนกประเภท Wallet รูปแบบนี้ เป็นการจำแนกจากวิธีในการเก็บรักษา Private Key ของบริการ Wallet โดยที่ Custodial Wallet เป็นการให้บริการ Wallet ที่ผู้ให้บริการ Wallet เป็นผู้เก็บรักษา Private Key ให้กับผู้ใช้งาน นั่นหมายความว่า ผู้ให้บริการ Wallet จะรู้ Private Key ของผู้ใช้งาน และมีสิทธิ์ในการจัดการกับ Digital Asset ของผู้ใช้งานทุกคน ตัวอย่างของ Custodial Wallet ก็คือ Wallet ที่เปิดกับผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลส่วนใหญ่

แต่สำหรับ Non-Custodial Wallet จะเป็นบริการ Wallet ที่ผู้ให้บริการเพียงแค่พัฒนาโปรแกรม สำหรับการช่วยผู้ใช้งานจัดเก็บและใช้งาน Private Key แต่ไม่ได้จัดเก็บรักษา Private Key ให้แทนผู้ใช้งาน และจะไม่รู้ Private Key ของผู้ใช้งาน Wallet ค่ะ

แล้ว Private Key ของ Non-Custodial Wallet ถูกจัดเก็บอยู่ที่ไหนล่ะ...

  • หากเป็น Non-Custodial Wallet ในรูปแบบของ Desktop Wallet นั้น Private Key จะถูกจัดเก็บอยู่ใน Laptop หรือ Computer ที่นักลงทุนทำการลง Desktop Wallet Software
  • หากเป็น Mobile Wallet นั้น Private Key จะถูกจัดเก็บอยู่บน Mobile Device ของผู้ใช้งานเอง
  • หากเป็น Hardware Wallet ก็จะถูกเก็บไว้อยู่บน Hardware นั้นๆ โดยตรง ซึ่งเมื่อผู้ใช้งานต้องการทำธุรกรรม ผู้ใช้งานจะสามารถเรียกใช้งาน Private Key ที่จัดเก็บอยู่ได้ โดยใช้ Password หรือ Biometric Authentication หรือวิธีการยืนยันความเป็นเจ้าของแบบอื่น แทนการกรอก Private Key ทุกครั้งที่ต้องการทำธุรกรรม

นั่นหมายความว่า กรณีที่เป็น Custodial Wallet ผู้ให้บริการ Wallet สามารถเข้าถึงและจัดการกับ Digital Asset ของผู้ใช้งานแทน ซึ่งก็จะมีข้อดีคือ ผู้ใช้งานไม่ต้องกลัวว่าจะจัดเก็บ Private Key ไม่ดีและทำหายเอง เนื่องจากผู้ให้บริการก็จะมีระบบการจัดเก็บให้ แต่ก็จะต้องรับความเสี่ยงที่ผู้ให้บริการ Wallet จะขโมยสินทรัพย์ของผู้ใช้งานไป หรือ หากมีการจัดการระบบจัดเก็บ Private Key ที่ไม่ดี ก็อาจจะถูก Hack ทำให้ Private Key ของผู้ใช้งานหลุดออกไปได้ ดังประโยคที่ได้ยกมาข้างต้นว่า “Not your keys, not your coins”

แต่สำหรับกรณี Non-Custodial Wallet เนื่องจากไม่มีคนอื่นที่ถือ Private key ของผู้ใช้งานนอกจากตัวเอง ทำให้มั่นใจได้ค่ะว่าจะไม่มีใครคนอื่นเข้าถึงสินทรัพย์ของผู้ใช้งานได้ ได้รับความเป็นส่วนตัวอย่างเต็มที่ แต่ก็ต้องไม่ลืมค่ะว่า หากทำ Recovery Phrase สูญหาย (เช่น หากเป็นกรณี Mobile Wallet ถ้าผู้ใช้งานทำโทรศัพท์มือถือหาย และไม่ได้จดบันทึก Recovery Phrase เก็บเผื่อเอาไว้) ก็จะไม่สามารถเข้าถึงและจัดการกับสินทรัพย์ได้อีก ดังนั้นผู้ใช้งานควรต้องมีการจดและเก็บรักษา Recovery Phrase นี้เป็น backup เอาไว้อีกชั้นนึงเพื่อให้มั่นใจว่าสินทรัพย์ปลอดภัย

เก็บรักษา Recovery Phrase สำหรับ Non-Custodial Wallet อย่างไรให้ปลอดภัย

คุณผู้อ่านอาจจะมีความกังวลว่าแล้วเราควรเก็บรักษา Recovery Phrase อย่างไรดี ในกรณีที่ใช้บริการ Non-Custodial Wallet  

แนะนำว่าทางที่ดีที่สุด คือให้ผู้อ่านเก็บ Recovery Phrase ไว้ในรูปแบบของ Physical ค่ะ เช่น จดไว้ในกระดาษหรือสมุดโน๊ต  หรืออีกวีธีหนึ่งคือการใช้แผ่นโลหะที่สามารถสลัก Recovery phrase ได้ และต้องไม่ลืมที่จะเก็บสิ่งที่จด Recovery phrase ไว้ในที่ปลอดภัยไม่ให้สูญหายเช่นกันนะคะ (เช่น เก็บในตูเซฟ)

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องระวังก็คือ คุณผู้อ่านไม่ควรที่จะถ่ายภาพหรือ Screen Shot ของ  Recovery Phrase เก็บเอาไว้บน Mobile Device หรือ Tablet ค่ะ แม้ว่าจะเป็นวิธีการที่สะดวก แต่การทำเช่นนี้ จะเพิ่มโอกาสที่คนอื่นจะสามารถเข้าถึงรูปภาพนี้ได้ และขโมย Recovery Phrase ของเราไปได้ค่ะ

 

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้อ่านจะได้รับความรู้เกี่ยวกับ Digital Asset Wallet มากขึ้น และเข้าใจถึงความสำคัญของ การเก็บรักษา Private Key และ Recovery Phrase รวมถึงจุดเด่นความเสี่ยงของการใช้ Wallet แต่ละประเภทนะคะ

ผู้อ่านสามารถติดตาม Kubix ได้ผ่านเวปไซต์ www.kubix.co นี้หรือเฟสบุ๊กเพจ Kubix Digital Asset เพื่อให้ไม่พลาดข่าวสาร และสาระดีๆ ที่ทีมงาน Kubix จะรวบรวมมาให้กับผู้อ่าน เพื่อให้ผู้อ่านไม่พลาด การลงทุนดีๆ กับสินทรัพย์ดิจิทัลค่ะ และดิจิทัลโทเคนแรกของเราจะเปิดตัวเร็วๆ นี้ ด้วยค่ะ หากไม่อยากพลาด อย่าลืมไปกดไลค์เพจกันไว้นะคะ!

การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน 

scroll top iconBack to top