Asset Allocation คืออะไร ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนอย่างไรบ้าง
Asset Allocation คืออะไร มีเทคนิคกระจายความเสี่ยงอย่างไรบ้าง
Asset Allocation คือ การจัดสรรสินทรัพย์อย่างเหมาะสม เป็นสิ่งที่นักลงทุนทั้งมือใหม่และมืออาชีพจะขาดไม่ได้เลย ถึงกับมีคำกล่าวว่า สิ่งพื้นฐานที่สุดที่ควรรู้ก่อนลงทุนก็คือการ “วางแผน” ว่าจะนำเงินไปลงกับอะไรมากน้อยเท่าไหร่ และจะปรับพอร์ตอย่างไรเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยที่เป้าหมายการลงทุนยังคงเหมือนเดิม
เพราะการลงทุนในชีวิตจริงนั้นใช้เงินจริง ดังนั้น อย่าเริ่มลงทุนโดยไม่มีเป้าหมายและไร้การวางแผน Kubix ชวนทำความรู้จักกับหลักการกระจายลงทุนอย่างง่ายๆ ที่ทุกคนนำไปปรับใช้กับพอร์ตของตัวเองได้เลย
Asset Allocation คืออะไร
การจัดสรรสินทรัพย์ หรือ Asset Allocation คือ การกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่หลากหลาย ทั้งในแง่ของการกระจายเงินไปยังสินทรัพย์ที่มีระดับความเสี่ยงแตกต่างกัน และการลงทุนในอุตสาหกรรมหลายๆ ชนิด แทนที่จะกระจุกเงินลงทุนอยู่ในที่เดียว ซึ่งถ้าโชคดีก็จะได้ผลตอบแทนสูงมาก แต่ก็เสี่ยงที่จะสูญเงินจำนวนมากไปในคราวเดียวเช่นกัน
ทำไมนักลงทุนควรใส่ใจในการจัดสรรสินทรัพย์
นักลงทุนทุกคนควรทำ Asset Allocation โดยออกแบบให้เหมาะสมกับสไตล์การลงทุนและเป้าหมายของตัวเอง เพื่อช่วยบริหารและป้องกันความเสี่ยง สาเหตุที่ควรทำ Asset Allocation มีดังนี้
- สินทรัพย์แต่ละประเภทมีความเสี่ยงและความผันผวนไม่เท่ากัน เช่น ตราสารหนี้มีความเสี่ยงต่ำ กองทุนรวมต่างประเทศอาจมีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน คริปโทเคอร์เรนซีมีความผันผวนสูง
- สินทรัพย์ต่างชนิดกันมีระยะเวลารับผลตอบแทนไม่เหมือนกัน บางอย่างจ่ายเงินปันผลปีละสองครั้ง บางอย่างต้องถือให้ครบตามกำหนดจึงจะได้รับเงินคืน
- เป้าหมายการลงทุนของแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนลงทุนเพื่อเก็บเงินซื้อรถ อาจต้องการลงทุนแค่ช่วงสั้นๆ ในสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดง่าย บางคนลงทุนระยะยาวเพื่อให้มีเงินใช้หลังเกษียณ ก็สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ต้องใช้เวลาเติบโตเพื่อให้ผลตอบแทนงอกเงย
การกระจายการลงทุนที่ดีจะช่วยป้องกันความเสี่ยง เช่น หากเกิดความไม่แน่นอนในตลาดจะได้ไม่ขาดทุนทั้งหมด เพราะยังมีผลตอบแทนจากฝั่งอื่นๆ ชดเชย ทั้งยังตอบโจทย์เป้าหมายในการลงทุนของแต่ละคนอีกด้วย
3 Steps ทำ Asset Allocation เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุน
การทำ Asset Allocation คือ การกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนแม้ในภาวะตลาดผันผวน ดังนั้น จึงไม่ควรลงทุนอยู่ในสินทรัพย์แค่ประเภทเดียว เรามาดูหลักการง่ายๆ กันเลยดีกว่า
- รู้จักตัวเอง
อันดับแรก ควรรู้จักตัวเองก่อนว่ายินดีรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อเลือกแบ่งสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตให้เหมาะสม เช่น รับได้ไหมหากสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่มีโอกาสขาดทุนสูง แต่ก็อาจได้รับผลตอบแทนสูงเช่นกัน
- ลงสนาม
เมื่อรู้แล้วว่าตัวเองรับความเสี่ยงได้ระดับไหนก็ถึงเวลาเริ่มต้นลงทุน โดยกระจายความเสี่ยงตามสัดส่วนให้เหมาะสมตามปัจจัยต่างๆ ดังนี้
- ตามประเภทสินทรัพย์
สินทรัพย์แต่ละประเภทมีระดับความเสี่ยงและผลตอบแทนไม่เท่ากัน ยิ่งมีโอกาสสร้างผลตอบแทนสูง ยิ่งมีความเสี่ยงสูงตามไปด้วย จึงควรเฉลี่ยลงทุนให้หลากหลาย - ตามประเภทอุตสาหกรรม
อุตสาหกรรมหรือธุรกิจแต่ละประเภทมีช่วงขาขึ้นขาลงของตลาด ซึ่งส่งผลมาจากสภาพเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ จึงควรกระจายลงทุนให้หลากหลาย เช่น ลงทุนทั้งในภาคการเกษตร เทคโนโลยี การเงิน อสังหาฯ และสินค้าอุปโภคบริโภค
- ปรับกลยุทธ์
แน่นอนว่า ไม่มีใครวางแผนเพียงครั้งเดียวแล้วยึดหลักการนั้นตลอดไป เนื่องจากสภาพตลาดเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงควรดูผลประกอบการและแนวโน้มของตลาด แล้วปรับพอร์ต (Rebalancing) ให้เหมาะสม
- ตั้งเงื่อนไขการปรับพอร์ตของตัวเอง เช่น
- ตามระยะเวลา: บางคนอาจกลับมารีวิวทุกๆ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปีว่าผลตอบแทนของตัวเองเป็นอย่างไร เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ ณ ตอนนั้นไหม
- ตามเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของมูลค่าสินทรัพย์: กำหนดไว้ว่า หากมูลค่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงร้อยละเท่าไหร่ให้เข้ามาปรับพอร์ต
- ใช้เครื่องมือปรับพอร์ตอัตโนมัติ (Auto-rebalancing) สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้กับบริษัทหลักทรัพย์ที่ตนเองมีบัญชีลงทุน
ตัวอย่างการกระจายการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนตามเป้าหมาย
แบบที่ 1 เน้นผลตอบแทนสม่ำเสมอ
- สัดส่วนการลงทุน: เน้นลงทุนในตราสารหนี้และหุ้นในประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ
- ตราสารหนี้ 70%
- ตราสารทุนในประเทศ 25%
- ตราสารทุนต่างประเทศ 15%
- สินทรัพย์ทางเลือก เช่น หุ้นนอกตลาด สกุลเงิน โทเคนดิจิทัล คริปโทเคอร์เรนซี 5%
- เหมาะสำหรับ: ผู้ที่ต้องการสร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอในสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงไม่สูงมาก
แบบที่ 2 เน้นความสมดุลของพอร์ต
- สัดส่วนการลงทุน: เพิ่มสัดส่วนของหุ้นต่างประเทศเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่มากขึ้น
- ตราสารหนี้ 40%
- ตราสารทุนในประเทศ 25%
- ตราสารทุนต่างประเทศ 30%
- สินทรัพย์ทางเลือก 5%
- เหมาะสำหรับ: ผู้ที่ต้องการกระจายการลงทุนในหลากหลายความเสี่ยงเท่าๆ กัน
แบบที่ 3 เน้นสร้างการเติบโตในระยะยาว
- สัดส่วนการลงทุน: ลงทุนในหุ้นต่างประเทศและสินทรัพย์ทางเลือกมากขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทน
- ตราสารหนี้ 30%
- ตราสารทุนในประเทศ 20%
- ตราสารทุนต่างประเทศ 40%
- สินทรัพย์ทางเลือก 10%
- เหมาะสำหรับ: ผู้ที่มีเป้าหมายการลงทุนระยะยาว ยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง ยังไม่ต้องใช้เงินก้อนนี้ และรอให้มูลค่าของพอร์ตเติบโตได้ในระยะเวลา 5-10 ปีขึ้นไป
บทความนี้ไม่ใช่คำแนะนำทางการลงทุน นักลงทุนโปรดศึกษาความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
สรุป
ความจริงแล้ว หลักง่ายๆ ของการทำ Asset Allocation คือ การจัดสรรสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงและต่ำในพอร์ตให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสม เช่น 30:70, 40:60 หรือ 50:50 ซึ่งในปัจจุบัน หลายคนนิยมแบ่งเงินมาลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกมากขึ้น เช่น โทเคนดิจิทัลและคริปโทเคอร์เรนซี เพื่อเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทนที่หลากหลาย ซึ่งบางครั้งอาจไม่ใช่ตัวเงิน แต่เป็นสิทธิประโยชน์ที่น่าสนใจ ทั้งยังปลอดภัยด้วยการเข้ารหัสในการทำธุรกรรมผ่านบล็อกเชน
หากใครอยากศึกษาเกี่ยวกับการลงทุนผ่านโทเคนดิจิทัลเพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับพอร์ต สามารถติดตามข้อมูลดีๆ กับ Kubix ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายโทเคนดิจิทัลที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ได้เลย