โทเคนมีกี่แบบ อะไรบ้าง
โดย Kubix

ในปัจจุบันหลายๆ คนอาจจะเห็นโทเคนดิจิทัลจากอุตสาหกรรมที่หลากหลายทยอยเปิดตัวและเสนอขายกันมาซักพักหนึ่งแล้ว และอาจจะยังสงสัยว่าโทเคนมีกี่ประเภทและแตกต่างกันอย่างไรบ้าง บทความนี้จะพาผู้อ่านให้เข้าใจประเภทโทเคนต่างๆ และจุดประสงค์ในการใช้มากขึ้น

โทเคนมีอะไรบ้าง?
- Investment Token (โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน) เป็นโทเคนดิจิทัล์ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือโทเคนในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการใดๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สิทธิและผลตอบแทนในการลงทุน เช่น สิทธิจากส่วนแบ่งรายได้ หรือผลกำไรจากการลงทุนในโครงการ และผู้ลงทุนก็คาดหวังกำไรหรือผลตอบแทนจากการลงทุนนั้น สำหรับประเทศไทย การออกเสนอขาย Investment Token จะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีการเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนดและต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต.เท่านั้น
- Utility Token (โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์) เป็นโทเคนดิจิทัล์ที่ใช้ในการกำหนดสิทธิแก่ผู้ถือโทเคนในการได้มาซึ่งสิทธิที่เฉพาะเจาะจง เช่น ให้สิทธิ์ในการเข้าถึงแพลตฟอร์มหรือโครงการ รวมถึงนำไปใช้แลกสินค้าหรือบริการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้โดย
Utility Token สามารถแบ่งออกไป 2 แบบคือ
2.1 Utility Token พร้อมใช้: หากสินค้าหรือบริการนั้นพร้อมที่จะให้ใช้ประโยชน์ตั้งแต่วันที่เสนอขายโทเคนดิจิทัลครั้งแรก ผู้ถือครอง Utility Token พร้อมใช้จะสามารถนำไปใช้ได้ทันที โดย Utility Token พร้อมใช้มักจะไม่ได้ถูกใช้เพื่อการลงทุน แต่ถูกใช้ด้วยจุดประสงค์หลักในการแลกรับสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับสินค้าและบริการต่างๆ จากผู้เสนอขาย
2.2 Utility Token ไม่พร้อมใช้: หากสินค้าหรือบริการนั้นยังไม่พร้อมที่จะให้ใช้ประโยชน์ทันทีในวันที่เสนอขายโทเคนดิจิทัลครั้งแรก โดยผู้เสนอขายโทเคนต้องนำเงินที่ได้จากการขาย Utility Token ไปพัฒนาแพลตฟอร์มหรือโครงการให้แล้วเสร็จ เพื่อที่จะให้สิทธิประโยชน์ในการใช้สินค้าหรือบริการแก่ผู้ถือครอง Utility Token ไม่พร้อมใช้ ดังนั้นการเสนอขาย Utility Token ไม่พร้อมใช้จึงมีความคล้ายคลึงกับ Investment Token การเสนอขาย Utility Token ประเภทนี้จึงต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. และมีการเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนด ทั้งนี้ต้องเสนอขายผ่าน ICO Portal ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. อีกด้วย
- Security Token คือการเปลี่ยนหลักทรัพย์ทางการเงิน เช่น หุ้น ที่ดิน หรือกองทุน ให้อยู่ในรูปแบบของโทเคนดิจิทัลผ่านกระบวนการ Security Token Offering (STO) ซึ่งโทเคนจากกระบวนการ STO มักถูกใช้ในการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ มีมูลค่าเทียบเท่าหลักทรัพย์ที่ลงทุน และผู้ออกโทเคนสามารถกำหนดเงื่อนไขว่าผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนแบบใด เช่น สัดส่วนการถือหุ้น สิทธิในการโหวต หรือเงินปันผล เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดความหมายที่ชัดเจนของ Security Token และมีเพียงบางประเทศที่มีกฎหมายรองรับ นับว่าเป็นวิธีการระดมทุนในอนาคตที่น่าติดตาม
เห็นได้ว่าปัจจุบันการลงทุนไม่ได้จำกัดการรับผลตอบแทนเป็นตัวเงินเท่านั้น แต่ผู้ลงทุนสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ในรูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์ในการใช้สินค้าหรือบริการผ่านการออกโทเคนที่ดิจิทัล ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกและตัดสินใจลงทุนให้ตรงกับความสนใจและไลฟ์สไตล์ของตนเอง