Tokenization คืออะไรและมีประโยชน์อย่างไร

โดย Kubix

Tokenization คือการแปลงสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ให้อยู่ในรูปแบบของโทเคนดิจิทัล ตัวอย่างเช่น การ Tokenize ที่ดิน หมายถึงการสร้างโทเคนของที่ดินนั้นขึ้นมาและมีกลไกที่สามารถตีมูลค่าของโทเคนอ้างอิงกับที่ดินผืนนั้น เพื่อให้เกิดสภาพคล่องในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ ซึ่งในปัจจุบันแนวคิดด้าน Tokenization ถูกนำไปประยุกต์ใช้งานในหลายบริบทและหลากหลายอุตสาหกรรม

ประโยชน์ของ Tokenization

  1. การใช้กับสินทรัพย์ทั่วไป 
    Tokenization สามารถเข้ามาแก้ปัญหาในการซื้อขายสินทรัพย์ได้รวดเร็วขึ้น เราสามารถใช้เพื่อแปลงสินทรัพย์ในโลกจริงให้เป็นโทเคนดิจิทัลตามจำนวนหน่อยของสินทรัพย์  เช่น หน่วยตารางเมตรสำหรับที่ดิน และส่งต่อมูลค่าความเป็นเจ้าของส่วนหนึ่งของสินทรัพย์ให้กับผู้ถือโทเคนที่ซื้อในจำนวนที่ต่างกัน อีกทั้งยังช่วยทำให้เข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ที่ผู้ลงทุนถือโทเคนอยู่อีกด้วย
  2. การแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์
    กระบวนการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ หรือ Securitization นั้น คือการนำสินทรัพย์ทางการเงินหรือภาระทางการเงินตามกฎหมาย มาแปลงเป็นหลักทรัพย์เพื่อเสนอขายต่อนักลงทุน  แต่โดยปกติแล้ว กระบวนการ Securitization มีความยุ่งยาก ใช้เวลานาน และค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่ด้วยเทคโนโลยี Tokenization เข้ามาเราสามารถปรับบางสินทรัพย์หรือธุรกรรมมาอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ทำให้เราสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ได้ง่ายขึ้น มีสภาพคล่องที่ดีขึ้น และไม่จำเป็นต้องพึ่งพากระบวนการที่วุ่นวายอย่าง Securitization อีกต่อไป
  3. การทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ
    การทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศนั้นมักจะมีขั้นตอนที่วุ่นวาย ทั้งต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแสนแพง และใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่เทคโนโลยี Tokenization บนบล็อกเชนนี้ที่จะเข้ามาพลิกโฉมวงการการเงิน โดยช่วยให้เราสามารถทำธุรกรรมทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินไปในต่างประเทศ​ หรือชำระเงินให้กับคู่ค้าที่อยู่อีกซีกโลกก็สามารถเกิดขึ้นอย่างปลอดภัยได้แบบทันที นอกจากเงินแล้ว เราก็ยังสามารถทำธุรกรรมแบบเดียวกันได้กับสินทรัพย์อื่นๆ ได้อีกด้วย

ข้อจำกัดของ Tokenization

แม้ว่าบล็อกเชนจะเป็นระบบการเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ แต่การให้บริการทั่วโลกหมายความว่าผู้ให้บริการก็ต้องทำตามกฎหมายของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันด้วย อย่างไรก็ดีเพื่อเพิ่มความคุ้มครองให้แก่ผู้ถือโทเคนในกรณีที่มีอสังหาริมทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงกำหนดให้ผู้ออกโทเคนดังกล่าวต้องมอบหมายให้บุคคลที่ 3 ที่เรียกว่า “ทรัสตี” (ผู้รับโอนสิทธิในทรัพย์สินจากผู้ออกโทเคน) ถือครองอสังหาริมทรัพย์นั้นแทนและทำหน้าที่ดูแลรักษาสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้แก่ผู้ถือโทเคน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ออกโทเคนไม่สามารถนำอสังหาริมทรัพย์นั้นไปใช้เพื่อการอื่นได้ และผู้ถือโทเคนจะได้รับผลประโยชน์จากทรัพย์สินตามสิทธิที่พึงได้รับ

ทั้งนี้กระบวนการ Tokenization ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการการเงินด้วยความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่เราอาจจะไม่เคยนึกถึงมาก่อน แต่อย่างไรก็ตามเทคโนโลยียังเพิ่งเริ่มต้นและยังต้องใช้เวลาอีกมากจนกว่าจะเกิดการยอมรับในวงกว้างและใช้งานอย่างกว้างขวางจนธุรกิจหรือองค์กรต้องหันมาสนใจและเริ่มใช้กระบวนการนี้มากขึ้นแม้ว่าอาจจะใช้เวลาหลายปีกว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นจริง แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Tokenization จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพคล่องของสินทรัพย์และโลกการเงินไปตลอดกาล

scroll top iconBack to top